21/9/52

Chicken Farm Bakers' Project # 14 : Green tea signature sweet : Green Tea Flaky Moon Cake


Chicken Farm Bakers' Project # 14 : Green tea signature sweet : Green Tea Flaky Moon Cake

สวัสดีค่ะ โปรเจคเดือนกันยายนก็มาแล้วนะคะสำหรับฟาร์มไก่ ช่วงนี้อาจจะมีหลาย ๆ คนหายหน้าค่าตาไปบ้าง เพราะว่ามีธุระกันจริง ๆ นะคะ สำหรับโปรเจคนี้ก็เป็นของ " สาวเจี๊ยบ .... J-Nap " หรือว่าน้อง ปิศาจชาเขียว ... เพราะว่าสาวเจ้าคลั่งไคล้ชาเขียวเสียเหลือเกินค่ะ สำหรับโจทย์นี้ก็แค่อยากให้เพื่อน ๆ ได้ลองทำขนมที่เป็น ขนมชิ้นเอก ... ถ้าเราได้เกิดเปิดร้านขายขนมขึ้นมา วันนี้เกิดอารมณ์อยากทานขนมเปี๊ยะขึ้นมาค่ะ ปกติจะชอบทานของขนมเปี๊ยะบ้านอาจารย์ค่ะ ก็เลยลองทำ " ขนมเปี๊ยะชาเขียว Green Tea Flaky Moon Cake " ขึ้นมาค่ะ สำหรับสูตรก็เป็นการนำหลาย ๆ ข้อมูลมาผสมแล้วลองทำดูค่ะ เนื่องจากไม่เคยทำก็เลยไม่รู้ว่าจากหนังสือเล่มไหนดี แล้วก็จากที่จดๆ ไว้อีก ก็ทดลองทำดูค่ะแล้วลองผสมสูตรดูค่ะ สำหรับสูตรที่ได้มาเกดก็ชอบมากนะคะ แต่ว่าขอให้ได้ลองทำสูตรอื่น ๆ ของเพื่อน ๆ ดูก่อนนะคะ แล้วจะค่อยมาปรับสูตรที่ลงตัวให้อีกทีค่ะ




สำหรับเปลือกขนมและไส้ขนมก็ได้มีการใส่ผงชาเขียวมัทฉะลงไปด้วยนะคะ จะได้ชื่อสมกับโปรเจคในครั้งนี้ เปลือกขนมก็เลยไม่ได้เป็นสีขาวค่ะ แล้วก็โรยผงชาเขียวซะหน่อย (แต่ไม่โรยน่าจะดีกว่า)

มาทำการรู้จักกับ " ชาเขียว " กันดีกว่าค่ะ สำหรับชาเขียวก็เป็นชาพันธุ์เดียวกับชาแดง ชาดำ นั่นเอง แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างชาเขียว ชาแดง และชาดำ อยู่ที่วิธีการบ่มใบชานั่นเอง สำหรับชาดำ ใบชาจะมีการผ่านการผึ่งแล้วนำมานวดหรือมาม้วนเพื่อให้น้ำมันหอมระเหยส่งกลิ่นก่อนนำไปหมักประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อให้สารฝาดทำปฏิกริยามีรสเข้มและรสฝาดมากขึ้น จากนั้นจึงนำมาอบแห้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย รสเข้มของชาดำนั้นทำให้สามารถนำมาผสมกับนมสดและน้ำตาล ให้ได้รสชาติที่หอมหวานขึ้น ส่วนชาอูหลงก็ผ่านการหมักเหมือนกันแต่ว่าใช้เวลาหมักน้อยกว่า (ประมาณ 20-70% ของเวลาที่ใช้ในการหมักชาดำ) สีของน้ำชาจึงออกสีเหลืองหรือเหลืองเข้ม ความสำคัญอยู่ที่กลิ่นหอมของชา ไม่ใช่รสฝาด ส่วนชาเขียวไม่ได้ผ่านการหมัก หรือการนวดเลยเพียวแต่แค่นำใบชามาทำให้แห้งเท่านั้น

ชาเขียวของญี่ปุ่น ชาจะถูกนำมานึ่งเพื่อยุติการทำงานของเอนไซม์ ก่อนนำมาอบแห้ง ต่างกับชาเขียวของจีนไต้หวันหรือยูนนาน ที่นำใบชามาคั่วก่อนอบแห้ง ซึ่งทำให้น้ำชาออกสีเหลืองอ่อน ขณะที่ชาเขียวญี่ปุ่นออกสีเขียว แต่ที่สำคัญของชาเขียวอยู่ที่กลิ่นหอมอันสดชื่นเป็นธรรมชาติ

ชาเขียวชั้นดีจะเลือกเด็ดเฉพาะยอดตุ่มกับใบอ่อน 2 ใบแรกเท่านั้น ใบชาที่แก่กว่านั้นคือใบที่ 3 ใบที่ 4 ลงไปถือว่าเป็นชาที่มีคุณภาพรองลงไป สำหรับเกรดของชาเขียวญี่ปุ่น บ่งออกเป็นหลายเกรดตามคุณภาพชา แต่ที่รู้จักและเป็นที่นิยมในชาวญี่ปุ่นได้แก่ บันฉะ เซ็นฉะ เกียวกุโรฉะ และมัทฉะ

บันฉะ (Bancha) ใบชาแก่และคุณภาพต่ำที่สุด มักมีก้านใบติดมาด้วย เนื้อหยาบ รสอ่อน สีเขียวอมเหลือง บันฉะมีรสอ่อน สีไม่สวยไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร บันฉะหากนำมาคั่วจะเรียกว่า โฮจิฉะ (Hojicha) รสจะเข้มมากขึ้น สีออกใกล้เคียงชาฝรั่ง คนญี่ปุ่นมักนิยมดื่ม โฮจิฉะเป็นชาเขียวเย็น เพราะว่าไม่มีรสขมเหมือนบันฉะใส่น้ำแข็ง ส่วน เก็นมัยฉะ (Genmai-cha) เป็นบันะที่ผสมข้าวคั่ว ให้กลิ่นหอมข้าวคั่วที่แปลกออกไป

เซ็นฉะ (Sencha) เป็นใบชาเกรดกลาวที่คนทั่วไปใช้ ประมาณ 80% ของใบชาที่เก็บเกี่ยวได้ จะผลิตเป็นใบชาเกรดนี้ ใบเซ็นฉะจะไม่มีก้านติดมาด้วย น้ำชาเซ็นฉะสีเขียวสดรสเข้มแต่ละเมียดละไม จิบแล้วชามีรสอยู่ที่ปลายลิ้น มีตั้งแต่เกรดธรรมดาจนถึงเกรดพรีเมียม ราคาก็ต่างกัน นำมาใช้ทำอาหารได้หลากหลาย

เกียวกุโระฉะ (Gyukuro-cha) เป็นใบชาที่มีเกรดดีที่สุด เป็นยอดใบชาที่เก็บจากพุ่มต้นชาที่ดีที่สุด เนื่องจากผลผลิตน้อย ราคาจึงค่อนข้างสูง น้ำชามีสีเขียวอ่อนหอมมาก ปกติชาเขียวทั่วไปจะใช้น้ำร้อนที่ อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส แต่ถ้าเป็นชาเกียวกุโระฉะ จะใช้อุณหภูมิที่ 50 องศาเซลเซียสเท่านั้น เพื่อมิให้ความร้อนทำลายรสชา

มัทฉะ (Mat-cha) เป็นผงชาเขียว สมัยก่อนได้จากการที่นำใบชาเขียว " เกียวกุโระฉะ " มาบดจนละเอียดเป็นผงเพื่อนำมาใช้ในพิธีชงชา มัทฉะ ที่ได้จะมีสีเขียวเข้ม ลักษณะข้น แต่ปัจจุบันได้มีการนำใบชา " เซ็นฉะ " มาสกัดเป็นน้ำ แล้วจึงกลั่นโดยการฉีดผ่านไอความร้อนสูงให้น้ำระเหยออก เหลือแต่ผงชาสีเขียวเข้ม กลิ่นหอม มัทฉะจึงเป็นชาที่นิยมนำมาใช้ใส่ในอาหาร มัทฉะที่ดีควรมีสีเขียวสดคล้ายมะนาว

ที่มา : โอชะกับชาเขียว สำนักพิมพ์แสงแดด


สูตร ขนมเปี๊ยะชาเขียว : ไส้ถั่วรสชาเขียว, แป้งชั้นนอกชาเขียว, แป้งชั้นในชาเขียว

ไส้ถั่วกวนรสชาเขียว

ถั่วเขียวเราะเปลือกแช่น้ำ 1 คืน นึ่งสุก 300 กรัม

น้ำตาลทราย 120 กรัม

ผงชามัทฉะ 2 ช้อนชา

น้ำมันพืช 60 กรัม

เนยสดชนิดจืด 20 กรัม

เกลือ 1/8 ช้อนชา

ไข่แดงของไข่เค็ม 4 ฟอง

แป้งชั้นนอกชาเขียว

แป้งเค้กตราบัวแดง 115 กรัม

น้ำตาลไอซิ่ง 5 กรัม

น้ำมันพืช 35 กรัม

น้ำเย็น 45 กรัม

ผงชาเขียวมัทฉะ 1/2 ช้อนชา


แป้งชั้นในชาเขียว

แป้งเค้กตราบัวแดง 140 กรัม

น้ำมันพืช 60 กรัม

ผงชาเขียวมัทฉะ 1/4 ช้อนชา


ขั้นตอนการทำ

การทำไส้ถั่วกวนชาเขียว : แช่ถั่วเขียวเลาะเปลือกไว้ประมาณ 1 คืนโดยใช้ถั่วเขียวแห้งแบบเลาะเปลือกประมาณ 180-200 กรัม แช่น้ำไว้ประมาณ 1 คืน ถั่วจะดูดน้ำไว้ น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นไปประมาณ 300-330 กรัม พอตอนเช้าก็นำไปนึ่งในลังถึงด้วยไฟแรงให้ถั่วสุกบาน ประมาณ 40-60 นาที ตอนนึ่งก็นำใส่ผ้าขาวบาง นำถั่วเขียวใส่แล้วทำบ่อไว้ตรงกลางเพื่อให้สุกง่ายขึ้น (ตรงนี้มีอาจารย์บอกมาอีกทีค่ะ) สำหรับวิธีนึ่งถั่วเขียวเกดอ่านเจออีกหลายวิธีค่ะ ที่ทำให้สุกเร็วโดยไม่ต้องแช่น้ำค้างคืน เดี๋ยวขอไปทดลองก่อนนะคะแล้วจะเอามาบอกค่ะว่าผลเป็นยังไง จากนั้นก็รอให้ถั่วเขียวนึ่งเย็นตัวลง แลวนำไปปั่นใน Food processor ให้ละเอียด ถ้าไม่มีก็สามารถใช้ไม้คลึงแป้งบดเอาได้ค่ะ ทำตอนร้อนๆ ได้เลย (บางวิธีจะเห็นว่าจะเอาน้ำลงไปปั่นด้วยเพื่อให้ถั่วปั่นง่ายและละเอียด ก็ทำได้นะคะ แต่ที่เกดลองทำไส้มาสองรอบเกดชอบแบบไม่ใส่น้ำดีกว่าค่ะ เพราะว่ากวนง่ายแห้งเร็วกว่าค่ะ)



สำหรับใครที่อยากให้แน่ใจว่าถั่วที่บดนั้นละเอียด ก็สามารถเอามาบี้กับกระชอบอีกรอบได้นะคะ รับรองว่าเนียนจริง ๆ ค่ะ จากนั้นนำถั่วใส่กระทะทองเหลือง น้ำตาลทราย น้ำมัน เกลือ และผงชาเขียว กวนให้เข้ากันด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน ตอนแรกจะแฉะนิด ๆ กวนไปเรื่อย ๆ สักครู่ก็เริ่มแห้ง แล้วจึงใส่เนยสด กวนจนถั่วล่อนออกจากกระทะ



จากนั้นนำมาปั้นให้กลมขนาดประมาณ 20 กรัม ปั้นได้ประมาณ 25 ลูก นำไปอบเทียนประมาณ 1 คืน ถ้าไม่อบก็จะได้กลิ่นชาเขียวมากกว่าค่ะ




ขั้นตอนการทำแป้งชั้นนอกชาเขียว : ร่อนแป้งเค้ก, ชาเขียวและน้ำตาลไอซิ่งเข้าด้วยกันในอ่าง ทำบ่อไว้ตรงกลางเติมน้ำมัน, น้ำเย็น จากนั้นจึงนวดให้นุ่มเนียน (อย่างในรูปที่วางบนมือนะคะ) แล้วพักแป้งไว้ประมาณ 30 นาที คลุมด้วยผ้าขางบางหมาด ๆ

ขั้นตอนการทำแป้งชั้นในชาเขียว : ร่อนแป้งเค้ก ผงชาเขียว และใส่น้ำมัน นวดให้เนียนนุ่ม (จะได้แป้งอย่างรูปล่างด้านขวาสุด) พักแป้งไว้ประมาณ 30 นาที



การทำรูปร่าง : ระหว่างรอพักแป้งก็นำไข่แดงดิบของไข่เค็มมาหั่นเป็นชิ้นตามต้องการ เมื่อครบเวลาก็ทำการแผ่แป้งชาเขียวชั้นนอกหนัก 80 กรัม แล้วนำแป้งชั้นในหนัก 80 กรัม บนแป้งชั้นนอก จากนั้นจัดการหุ้มแป้งชั้นในให้เรียบร้อย



ขั้นตอนการคลึงแป้ง : คลึงแป้งเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นจึงพับปลายด้านบนลงมาประมาณ 1/3 ของความยาวแป้ง จากนั้นจึงพับแป้งด้านล่างขึ้นมาให้ทับสนิทกับแป้งด้านบน ทำการกลับแป้งที่พับเป็นทบแล้วในแนว 90 องศา (จากแนวนอนเป็นแนวตั้ง) ทำการคลึงแป้งให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วทำการพับแป้งอย่างที่ทำซ้ำอีก 1 ครั้ง



เมื่อพับแป้งแล้วก็กลับ 90 องศาอีกครั้งแล้วรีดแป้งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นจึงทำการม้วนแล้วตัดแบ่งแป้งเป็น10 ชิ้น นำแผ่นแป้งออกมาคลึงให้เป็นวงกลม จากนั้นกลับด้านแป้ง



จากนั้นนำไส้ที่ได้มาวางบนแป้งที่กลับด้านเรียบร้อยแล้วทำการห่อให้เรียบร้อย ทำจนแป้งหมด (จะได้ขนม 25 ชิ้น) วางขนมบนถาดที่ทานเนยขาวบาง ๆ ทำการเปิดเตาอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส เมื่อเตาอบร้อนได้ที่จึงนำขนมเข้าอบนานประมาณ 15-20 นาที จากนั้นรอให้ขนมหายร้อนแล้วนำไปอบเทียนให้หอม อบประมาณ 1 คืน



ได้ขนมชิ้นเอกของเกดมาแล้วนะคะ ..... อาจจะสวยบ้างไม่สวยบ้างนะคะ เอาไว้เดี๋ยวลองทำอีกที สนุกดีค่ะ



ขนมเปี๊ยะชาเขียว ของเกดจะมีรสชาติชาเขียวอ่อน ๆ นะคะ ถ้าใครที่ชอบทานชาเขียวมาก ๆ ก็สามารถใส่เพิ่มได้ค่ะ ส่วนของเปลือกก็เหมือนกันค่ะ เกดลองเอาไปให้ญาติชิมดูก็มีเสียงชมค่ะ ไม่แน่ว่าเป็นเสียงปลอบใจหรือเปล่านี่สิ แต่อาจจะเป็นไปได้ที่เกดอบนานไปนิดค่ะ ถั่วเลยร่วน ๆ นิดนึงทั้งที่ตอนปั้นนี่กำลังดีเลย เกดอบไฟ 180 องศาเซลเซียส 15 นาทีแล้วปรับ 120 องศาเซลเซียสอีก 20 นาทีเหมือนในหนังสือ คาดว่านานไปก็เลยลองดูอีกหลาย ๆ เล่มก็จะอบเวลาน้อยกว่านี้ เอาไว้เดี๋ยวทำอีกครั้งจะลองอบให้สั้นลงค่ะ


สำหรับลิงก์ของเพื่อน ๆ ในฟาร์มไก่ที่ได้ส่งการบ้านไปแล้วนะคะ

นก popang : Chicken Farm Bakers' Project #14 : Green tea signature sweet .... Choux a la Cream

อุ้ม vanillaorchid : Chicken Farm Bakers' Project#14 : Green tea signature sweet .... Custard Green Tea Chiffon Cake

พี่เหมียว บล๊อก...ชั้นเอง : Chicken Farm Bakers' Project#14 : Green tea signature sweet .... Simple Green Tea Chiffon Cake

พี่ตา ผ้าไหมไทย : Chicken Farm Bakers' Project#14 : Green tea signature sweet .... White chocolate with Mactha

น้องเจี๊ยบ J-nap : Chicken Farm Bakers' Project#14 : Green tea signature sweet ....Egg Tart with Green Tea

น้องจิ๊บ IyadA : Chicken Farm Bakers' Project#14 : Green tea signature sweet .... Matcha Marble Bar Cookie

น้องอิน อ้อมกอดของความเหงา : Chicken Farm Bakers' Project # 14 : Green tea signature sweet : Green Tea IceCream Flourless Cupcake


9/9/52

Blueberry Buns ...... For Special day


สวัสดีค่ะ .... วันนี้เกดเอาขนมปังนุ่มๆ อร่อย ๆ มาให้ได้ทดลองทำทานกันนะคะ ในวันที่ฤกษ์ดีอย่างวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 แบบนี้ ใครที่มีเรื่องไม่สบายใจ ทั้งกายและใจก็ขอให้เรื่องต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดีนะคะ เกดเองก็ไม่ได้ทำขนมปังนานแล้วเหมือนกันค่ะ เพราะว่ามัวแต่ให้พี่หนุ่มลดน้ำหนัก เลยไม่ค่อยอยากทำขนมปังซักเท่าไหร่ เพราะว่าลดด้วยวิธีโลว์คาร์บค่ะ

ช่วงหลัง ๆ นี่เกดไม่ค่อยได้ไปบลอกใครเลยนะคะ เพราะว่ายุ่ง ๆ กับการทำเวปส่วนตัวค่ะ แต่ไม่ใช่เวปทำขนมนะคะเป็นเวปสำหรับคนรักงูค่ะ เพื่อน ๆ หลายคนคงทราบนะคะว่าเกดเลี้ยงงูเป็นงานอดิเรกค่ะ วันนี้ก็เป็นวันเปิดตัวเวปด้วยค่ะ ยังไงขอฝากไว้ด้วยนะคะสำหรับเวป www.killermorph.com

ตอนนี้เปลี่ยนจาก IE มาใช้ Google Chrome ดูค่ะ ทำให้สามารถเข้าบลอกแกงค์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมเยอะเลยค่ะ หลังจากที่ไปนั่งใช้ IE อยู่นาน หวังว่าคงจะได้อัพบลอกบ่อยขึ้นกว่าเดิมและไปเยี่ยมเพื่อน ๆ ได้ง่ายขึ้นค่ะ





ขนมปังสูตรนี้นิ่มดีค่ะ เป็นที่ถูกใจอย่างแรง..... สำหรับขนมปังสูตรนี้เกดได้มาจาก หนังสือ a piece of cake ของ Leila Linholm ค่ะสำหรับเล่มนี้ก็ได้ ปุ๊ก Dailydelicious เป็นคนชวนให้ซื้อค่ะ มีสูตรที่เป็นแป้งแบบเบสิคแล้วก็มีการดัดแปลงสูตรไปหลาย ๆ แบบเลยค่ะ ขนมปังหรือว่าสูตรต่าง ๆ ที่ใช้ในเล่มนี้จะเป็นขนมออกแนวออร์การ์นิคด้วยค่ะ อย่างยีสต์ก็ใช้เป็นยีสต์สด ไข่ไก่ก็เป็นแบบออร์การ์นิค ส่วนผสมอื่น ๆ ก็ออกแนวธรรมชาติดีค่ะ แบบนี้ถ้าใครชอบก็น่าจะหามาไว้สักเล่มนึงนะคะ และที่ชอบมาก ๆ คือคนเขียนสวยค่ะ น่ารักสุด ๆ เลยค่ะ

สำหรับสูตรขนมในเล่มนี้ก็แบ่งเป็นบท ๆ นะคะ ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ ขนมปัง เค้ก เค้าแบ่งตามนี้ค่ะ In the cookie jar, On the cake plate, Tarts, flans and pies, Cupcakes & Muffins, Party cakes, Berry squash & Buns, Savoury bread, Hearty wholemeal & crisp bread, Baking without an oven, Sauces, Creams and marmalade ดูแล้วแทบจะครบเกือบทุกอย่างเลยนะคะ ตอนนี้กลายเป็นหนังสือที่หยิบมาอ่านบ่อยทีสุดไปแล้วค่ะ





อย่างที่บอกไปแล้วว่าสูตรออกจะค่อนข้างเป็นออร์แกนิคซะหน่อย อย่างยีสต์ที่ใช้ในนี้ก็เป็นยีสต์สดค่ะ โชคดีที่เกดหาซื้อได้ ..... อยากอวดว่าเชียงใหม่นี่มีครบเกือบแมบทุกอย่างเลยค่ะ สำหรับใครที่ไม่มียีสต์สดก็สามารถใช้ Instant dry yeast อย่างที่เราใช้ทั่วๆ ไปได้นะคะ เกดก็เลยหาตารางสำหรับการคำนวณหาปริมาณของยีสต์มาให้ไว้ด้วยค่ะ Yeast Conversion Table


Blueberry buns

Adaptaion from : A piece of cake by Leila Linholm

Make : 24 Buns

Basic Recipe

นมสด 300 มล.

ยีสต์สด (Fresh yeast) 50 กรัม (ยีสต์แห้ง 15 กรัม)

น้ำตาลทราย 135 กรัม

เกลือ 1/2 ช้อนชา

เนยจืด 150 กรัม

ไข่ไก่ 1 ฟอง

แป้งขนมปัง 500 กรัม

แป้งเค้ก 160 กรัม

Filling

เนยจืด 200 กรัม

น้ำตาลทรายสีรำ 90 กรัม

ซินนามอน 1 ช้อนโต๊ะ

บลูเบอร์รี่ 110 กรัม (เกดใช้ 360 กรัม)

น้ำตาลไอซิ่ง 2 ช้อนโต๊ะ

แป้งข้าวโพด 2 ช้อนโต๊ะ

อัลมอนด์สไลด์ ตามชอบ

ขั้นตอนการทำ

สำหรับวันนี้เกดใช้ยีสต์สดค่ะ สำหรับที่ขายอยู่นี่เป็นขนาด 500 กรัมนะคะ ดูแล้วน่าจะใช้ได้นานเลยทีเดียวค่ะ ขนมปังที่ทำด้วยยีสต์สดกลิ่นจะแตกต่างจากปกตินิดหน่อยนะคะ





เริ่มทำขนมปังกันนะคะ โดยร่อนแป้งทั้งสองชนิดรวมกัน นำใส่อ่างตี เติม นมสด เกลือ น้ำตาลทราย ไข่ไก่ ยีสต์สด ตีให้พอหมดผงแป้งด้วยความเร็วต่ำ (ประมาณ Speed1)





จากนั้นจึงเติมเนยสดที่เตรียมไว้ ตีให้เข้ากันด้วยความเร็วต่ำ วันนี้ใช้ความเร็วต่ำ (Speed 2) ตลอดนะคะ เพราะว่าปริมาณแป้งเยอะค่ะ แต่ถ้าทำครึ่งสูตรก็จะใช้เป็นความเร็วกลาง (Speed 4X ค่ะ เครื่องจะได้ไม่ทำงานหนักเกินไป ตีให้แป้งเนียนค่ะ เกดใช้เวลาประมาณ 20 นาทีค่ะ





เมื่อครบเวลาก็ลองขึงแป้งเป็นฟิลม์ดูนะคะ ว่าได้ที่หรือยัง เนื้อแป้งนุ่มเนียนมาก ๆ ค่ะ





จากนั้นก็คลึงกลมให้แป้งโดว์หน้าเนียนนะคะ แล้วจึงนำแป้งโดว์ใส่อ่างที่ทาด้วยเนย แล้วพักไว้ประมาณ 45-60 นาที เพื่อให้แป้งขึ้นเป็น 2 เท่าค่ะ คลุมอ่างด้วยพลาสติกใสและคลุมทับด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำหมาด ๆ ปิดไว้อีกทีค่ะ





ระหว่างนี้ก็ทำการล้างบลูเบอร์รี่ให้สะอาดแล้วซับน้ำให้แห้งค่ะ คือเกดว่าที่จริงถ้าใส่ตามสูตรก็ดีค่ะเวลาม้วนจะม้วนได้ง่ายกว่า แต่เผอิญเกดอยากใช้ที่ซื้อมาให้หมดค่ะก็เลยใช้เยอะหน่อย ตรงนี้สามารถใช้เป็นบลูเบอร์รี่แช่แข็งได้นะคะ น่าจะดึงรสชาติได้ดีกว่าเพราะว่าจะมีรสออกเปรี้ยว ๆ นิดนึงค่ะ ตอนนี้บลูเบอร์รี่รสชาติหวานค่ะ นำเนยจืดอ่อนตัวผสมกับน้ำตาลทรายและอบเชยค่ะ คนให้เข้ากัน





ครบเวลาพักแป้งก็ลองเชคดว่าแป้งได้ที่หรือยังโดยการเอานิ้วจิ้มดูนะคะ ถ้าบุ๋มแล้วไม่เด้งคืนตัวทันทีก็ถือว่าใช้ได้แล้วค่ะ





ตบแป้งเพื่อไล่ลมออกจากแป้งโดว์ค่ะ จากแบ่งแป้งโดว์เป็นสองส่วนนะคะ น้ำหนักรวมประมาณ 1370 กรัม แบ่งเป็น 4 ก้อนค่ะ คลึงกลมแล้วพักไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อให้แป้งคลายตัวแล้วจึงคลึงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้านะคะ ให้หนาประมาณ 1 ซม.ค่ะ ขนาดประมาณ 7X12 นิ้ว จากนั้นจึงทาเนยที่เราเตรียมไว้ให้ทั่ว นำแป้งข้าวโพดและน้ำตาลไอซิ่งผสมเข้ากับบลูเบอร์รี่ จากนั้นจึงนำมาโรยบนแป้งโดว์ให้ทั่ว





ม้วนแป้งโดว์ จากนั้นจึงตัดเป็นหกชิ้น ยาวชิ้นละประมาณ 2 นิ้ว จากนั้นจึงนำไปใส่ในพิมพ์มัฟฟินที่เตรียมไว้ ทำจนหมดแป้งที่เตรียมไว้





รอให้แป้งขึ้นเป็นสองเท่า เวลาประมาณ 45-60 นาที เมื่อใกล้ครบเวลาก็ทำการเปิดเตาอบที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส เมื่อแป้งขึ้นเป็นสองเท่าแล้วก็ทาด้วย egg wash โรยหน้าด้วยอัลมอนด์สไลด์ให้ทั่ว นำเข้าอบประมาณ 10-15 นาที หรือจนขนมปังมีสีเหลืองทอง





อบออกมาแล้วมาแล้วก็จะได้ขนมปังเนื้อนุ่ม ๆ ค่ะ เรียกได้ว่าแทบอดใจไม่ไหวจริง ๆ ค่ะ





ก็เลยจัดการชิมตอนที่ร้อน ๆ แบบที่ออกมาจากเตาอบสักชิ้นค่ะ





ตามสูตรนี่ทำออกมาได้ค่อนข้างเยอะเลยนะคะ ประมาณ 24 ชิ้นค่ะ เกดลองอบเป็นขนมปังเปล่า ๆ ครึ่งนึงค่ะ แล้วก็ทำเป็นบลูเบอร์รี่บันประมาณ 12 ชิ้นค่ะ





เก็บเอาไว้ทานเองด้วยแล้วก็เอาไปให้เพื่อน แล้วก็บ้านแม่ให้ลองชิมด้วยค่ะ เรียกว่าแจกจ่ายกันทั่วถึงค่ะ





ส่วนที่เก็บไว้ที่บ้านเกดก็เก็บไว้ในตู้เย็นค่ะ เวลาที่จะทานก็นำเข้าไมโครเวฟสักประมาณ 20 วินาทีค่ะ ทานตอนเช้านี่นุ่ม ๆ อร่อย ๆ ดีค่ะ หลังจากที่ทำแล้วเกดก็ยังทำอีกนะคะ แต่ว่าเปลี่ยนไส้ค่ะ เพราะว่าติดใจในความนุ่มของเนื้อขนมปังค่ะ





Special Thanks To

Blueberry Buns Recipe from " a piece of cake " by Leila Lindholm

ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนกันนะคะ ขอให้มีความสุขกันมาก ๆ ค่ะ กับวันที่ฤกษ์ดีอย่างวันที่ 9-09-2009